วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์





การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์



ถึงแม้ว่าความนิยมในการปลูกมะนาวของเกษตรกรไทยจะเน้นไปในเรื่องของขนาดผลใหญ่ เปลือกผลที่บางและมีสีเขียวสดใส มีน้ำมากและมีกลิ่นหอม รสชาติเปรี้ยวจัด   สายพันธุ์มะนาวที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกในเชิงการค้าในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์แป้นรำไพ แป้นทวาย อีมัน ฯลฯ โดยเฉพาะพันธุ์แป้นรำไพ น่าจะเป็นสายพันธุ์เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมากที่สุด เนื่องจากมีลักษณะเด่นตรงที่ออกดอกและติดผลง่าย ในขณะที่มะนาวพันธุ์ตาฮิติซึ่งจัดเป็นมะนาวที่ไม่มีเมล็ดและทนทานต่อโรคแคงเกอร์
          จากประสบการณ์ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์มานาน จะถือได้ว่าเป็นเกษตรกรต้นตำรับในการปลูกมะนาวในรูปแบบนี้ก็ว่าได้ และในการเริ่มต้นของการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ของได้นำสายพันธุ์มะนาวหลากหลายมาทดลองปลูก ในที่สุดก็เน้นปลูก พันธุ์ตาฮิติ เพื่อส่งขายตลาดต่างประเทศเหตุผลหลักๆ ที่ตัดสินใจคัดเลือกปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี เป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคแคงเกอร์และจัดเป็นมะนาวที่มีผลขนาดใหญ่ ที่สำคัญคุณพิชัยจะขายมะนาวตาฮิตินอกฤดูได้เฉลี่ยผลละ 1.20-1.80 บาท

การเริ่มต้นจัดผังปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

                     รายละเอียดของการเริ่มต้นการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะต้องวัดพื้นที่ กว้างxยาว ก่อน เพื่อจะหาพื้นที่ หลังจากนั้น เว้นทางเดินประมาณ 2 เมตร   ระยะปลูกระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร ปลูกแบบแถวคู่แล้วเว้นเป็นทางเดิน 2 เมตร สภาพพื้นที่ปลูกจะต้องปรับให้เรียบเหมือนกับลานตากข้าว วัดระยะการวางวงบ่อ การวางวงบ่อซีเมนต์พยายามวางให้เป็นเลขคู่เพื่อง่ายต่อการวางระบบน้ำและคำนวณแรงดันน้ำกรณีระบบการให้น้ำจะใช้แรงดันจากแท็งก์ส่งน้ำใช้หัวมินิสปริงเกลอร์ (ไม่ได้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า) ท่อจะอยู่ตรงกึ่งกลางเพื่อกระจายน้ำได้สม่ำเสมอ คุณพิชัยได้ทดลองระบบการให้น้ำในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จนได้สูตรสำเร็จ 1 ประตูน้ำ จะต้องคลุมต้นมะนาวได้ 100 ต้น มะนาว 400 วงบ่อ จะมี 4 ประตูน้ำ อย่างนี้เป็นต้น
ส่วนของแท็งก์จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกจะก่อให้สูง ประมาณ 5 วงบ่อ หรือมีความจุน้ำได้ 1,200 ลิตร จะใช้แท็งก์นี้เพื่อผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพแล้วเปิดน้ำดีเข้าไปผสมปล่อยไปให้ต้นมะนาวในวงบ่อได้โดยตรง ส่วนแท็งก์อีกชุดหนึ่งจะก่อให้สูงประมาณ 9 วงบ่อจำนวน 2 แท็งก์ เพื่อกักเก็บน้ำสะอาดแล้วช่วยในเรื่องของแรงดัน

การเตรียมดินปลูกมะนาวและขนาดของวงบ่อซีเมนต์
          ขนาดของวงบ่อซีเมนต์ที่แนะนำให้เกษตรกรใช้ จะใช้ขนาดวงเส้นผ่าศูนย์กลาง 80  เซนติเมตร แต่เดิมฝาวงบ่อใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตรเท่ากับขนาดของวงบ่อ เมื่อปลูกไปนาน 2-3 ปี พบว่า รากของต้นมะนาวจะโผล่ออกมานอกวงและชอนลงไปในดิน  ทำให้ควบคุมในเรื่องของการบังคับให้ออกนอกฤดูได้ยากมากขึ้น ปัจจุบัน   จึงได้แนะนำเกษตรกรและแก้ไขให้ซื้อฝาวงบ่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของวงบ่อ ใช้ฝาวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 90 เซนติเมตร กว้างกว่า 10 เซนติเมตร
ดินผสมที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด คือ หน้าดิน 3 ส่วน ขี้วัวเก่า 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน การใช้เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้สภาพดินมีการระบายน้ำที่ดี ถ้าใช้แค่หน้าดินผสมกับขี้วัวจะทำให้ดินปลูกแน่น เวลาให้น้ำไป 3-4 วัน น้ำยังไม่ถึงข้างล่างของวงบ่อ คุณพิชัยยังได้ยกตัวอย่างปริมาณของดินที่จะใช้ในการปลูกมะนาว จำนวน 100 วงบ่อ จะต้องใช้หน้าดินประมาณ 1 คันรถสิบล้อ เทคนิคในการผสมวัสดุปลูกจะต้องปูพื้นด้วยหน้าดินเป็นขั้นแรก หลังจากนั้น ใส่ขี้วัวเก่าเป็นชั้นที่ 2 แล้วตามด้วยเปลือกถั่วเขียวเป็นชั้นบนสุด หลังจากนั้นใช้เครื่องตีพรวนติดรถไถจะเร็วกว่าใช้แรงงานคน

การใส่วัสดุปลูกลงบ่อซีเมนต์มีเทคนิค
             ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ส่วนใหญ่จะใส่วัสดุปลูกในวงบ่อซีเมนต์เพียงเสมอวงบ่อเท่านั้น เมื่อรดน้ำไปได้เพียงแค่สัปดาห์เดียว วัสดุปลูกจะยุบตัวลงมาประมาณ 1 คืบมือ ถ้าเกษตรกรเติมวัสดุปลูกลงไปจะไปกลบลำต้นมะนาว ปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าจะตามมา ดังนั้น ในการใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์จะต้องใส่ให้พูนเป็นภูเขาเลย และที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นคือ จะต้องขึ้นเหยียบวัสดุปลูกขอบๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลางไม่ต้องเหยียบ การใส่วัสดุปลูกให้เป็นภูเขาจะช่วยในเรื่องดินยุบลงมาเสมอวงบ่อได้นานถึง 1 ปี

วิธีการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่ถูกต้อง
          หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว     ให้เกษตรกรขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว  (โดยปกติถ้าใช้กิ่งตอนมะนาว     ควรจะชำต้นมะนาวไว้นานประมาณ 1 เดือน เท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อต้นมะนาวที่ชำมานานแล้วหลายเดือน หรือชำค้างปี เนื่องจากจะพบปัญหาเรื่องรากขด ทำให้เจริญเติบโตช้าหรือต้นแคระแกร็น) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราประมาณ 1 กำมือ ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปักไม้เป็นหลักกันลมโยกและแนะนำให้ใช้ตอกมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก ตอกจะผุเปื่อยหลังจากปลูกไปนานประมาณ 2 เดือน ต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้ว แต่ที่หลายคนได้ใช้ปอฟางหรือพลาสติคทาบกิ่งมัดกับหลักจะอยู่ได้นานก็จริง แต่ปัญหาที่จะตามมาจะทำให้ลำต้นมะนาวคอด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น หลังจากปลูกเสร็จให้เดินท่อ PE เจาะหัวมินิสปริงเกลอร์และวางท่อ PE พาดไปกับวงบ่อเลยเพื่อสะดวกต่อการทำงาน

ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ได้ตลอดทั้งปี

คุณพิชัย บอกว่า ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกไปแล้วนับไปอีก 8 เดือน เกษตรกรสามารถบังคับให้ต้นออกดอกได้ ถ้าเกษตรกรจะบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรกแนะนำให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ราคาแพงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น เกษตรกรสามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้
  
วิธีการรดน้ำต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ 
                ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ตามคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมในเขตภาคเหนือตอนล่าง  ซึ่งเป็นที่คิดค้นวิธีการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์เป็นที่แรก ขณะที่เป็นนักวิชาการเกษตรอยู่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร คุณนรินทร์ได้แนะนำให้ใช้พลาสติคคลุมปากบ่อซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำหรือฝนที่ตกลงมาในช่วงแรกๆ คุณพิชัยก็ใช้วิธีการนี้เช่นกัน แต่พบปัญหาว่าเมื่อเกษตรกรนำพลาสติคไปคลุมกลับรักษาความชื้นให้กับต้นมะนาวใช้เวลานานวันกว่าดินจะแห้ง

ปัจจุบัน คุณพิชัยจึงเลือกใช้หลักการ "ฝนทิ้งช่วง" ในแต่ละปีช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี จะมีช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง จากประสบการณ์ของคุณพิชัยในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ถ้าฝนไม่ตกติดต่อกัน 3-4 วัน ดินในวงบ่อจะเริ่มแห้ง ใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลได้ ปัจจุบันจึงเลิกวิธีการใช้พลาสติคคลุมวงบ่อเพื่ออดน้ำ ใช้เพียงหลักการ "ฝนทิ้งช่วง" และมีการบำรุงต้นและสะสมอาหารให้สมบูรณ์



ผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ 2 รุ่น ต่อปี

ในช่วงเริ่มแรกของการบังคับมะนาวฤดูแล้งของคุณพิชัยจะทำให้ต้นมะนาวออกดอกเพียงรุ่นเดียวคือ ช่วงเดือนตุลาคมและไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น ทำให้คุณพิชัยจะต้องคอยปลิดดอกมะนาวทิ้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาสภาวะตลาดมะนาวผลผลิตจะเริ่มมีราคาดีตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน คุณพิชัยจึงปล่อยให้มะนาวให้ผลผลิต 2 รุ่น คือมีผลผลิตขายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รุ่นหนึ่ง (บังคับให้ต้นออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และมีผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกรุ่นหนึ่ง (บังคับให้ออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม) พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปีราคามะนาวจะถูกลง คุณพิชัยจะตัดแต่งกิ่งมะนาวในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งปลิดผลมะนาวที่ติดอยู่บนต้นทิ้งให้หมดตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปีตัดแต่งกิ่งมะนาวตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและปลิดผลทิ้งทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก จะมาตัดแต่งหนักเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งในช่วงนั้นมักจะพบว่าต้นมะนาวเริ่มโทรม มีกิ่งแห้งเป็นจำนวนมาก การตัดแต่งกิ่งมีผลทำให้ต้นมะนาวแตกกิ่งออกมาใหม่และได้ผลผลิตมะนาวที่มีคุณภาพ หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จในเดือนพฤษภาคม ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงบำรุงต้นและสะสมอาหารเพื่อจะกระตุ้นการออกดอกรุ่นแรกในเดือนของการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
เมื่อใบมะนาวเหี่ยวและเริ่มร่วงหรือเหลือใบยอดเพียง 1 คืบ คุณพิชัยจะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวกลางสูง เช่น สูตร 15-30-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 1 กำมือ ใส่ให้กับต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ รดน้ำจนเห็นว่าปุ๋ยละลายจนหมด (ช่วงการให้ปุ๋ยนี้คุณพิชัยไม่แนะนำให้เปิดน้ำด้วยหัวสปริงเกลอร์ ควรจะให้น้ำด้วยสายยางจะดีกว่า) และยังได้แนะนำก่อนว่า ก่อนที่จะให้ปุ๋ยควรเปิดน้ำให้กับต้นมะนาวจนดินชุ่มเสียก่อน คุณพิชัยจะรดน้ำด้วยสายยาง 2-3 ครั้งทุกๆ 3-5 วัน

สำหรับการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือธาตุอาหารทางใบควรฉีดพ่นอย่างเต็มที่ ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน โปรดั๊กทีฟ อัตรา 20 ซีซี ผสมกับสารเทรนเนอร์ อัตรา 10 ซีซี และปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ฉีดพ่นต่อเนื่องทุก 5-7 วัน หลังจากนั้นต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกและติดผลไปแก่ในช่วงฤดูแล้ง


ประวัติความเป็นมา กศน.ตำบลผาทอง


สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน กศน.ตำบลผาทอง
1. ประวัติความเป็นมา  
เดิมศูนย์การเรียนชุมชนตำบลผาทอง  ตั้งอยู่ที่ที่ทำการ  องค์การ บริหารส่วนตำบลผาทองหลังเก่า  บ้านแหน 3 หมู่ที่ 8 ตำบลผาทอง  อำเภอท่าวังผา แต่เนื่องจากทางคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านต้องการใช้ประโยชน์ในสถานที่ดังกล่าวเป็นโรงผลิตน้ำดื่มประจำหมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้นางสาวจินดาพร โนราช  ซึ่งเป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนที่รับผิดชอบการประสานงานพื้นที่ตำบลผาทองในขณะนั้น  จึงได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้อาคารสถานที่ของ   ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลผาทองหลังเก่า    ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านแหน 1 หมู่ 1  ตำบลผาทอง  อย่างเป็นทางการจาก นายแสวง  อะทะไชยผู้ใหญ่บ้านบ้านแหน 1 ในขณะนั้น โดยผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งตัวอาคารมี 2ชั้น ชั้นล่างใช้เก็บโต๊ะ เก้าอี้ และเต็นท์ ของหมู่บ้าน ส่วนชั้นบนไม่ได้ใช้ประโยชน์  คณะกรรมการหมู่บ้านจึงอนุญาตให้ใช้ชั้นบนของอาคาร    ศูนย์การเรียนชุมชนตำบลผาทอง จึงได้ย้ายมาทำการอยู่ในสถานที่แห่งนี้ และให้บริการจัดกิจกรรมงานการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกิจกรรมอื่น จนถึงปัจจุบัน  ต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ทางสำนักงาน กศน. โดยเลขาธิการ กศน.ได้สั่งการให้ดำเนินการปรับปรุงศูนย์การเรียนทุกตำบลให้เป็น กศน.ตำบล ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายดังกล่าว ทางศูนย์การเรียนชุมชนตำบลผาทองได้จัดต้ัง กศน.ตำบลและมีพิธีเปิดป้าย กศน.ตำบลผาทองในวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 และมีคำสั่งแต่งตั้ง นายจรุวัฒ           เสมอใจ  เป็นครู กศน.ตำบลผาทอง  ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากศน.ตำบลผาทองจนถึงปัจจุบัน
 2. ที่ตั้ง
           กศน.ตำบลผาทอง ตั้งอยู่บ้านแหน  1  หมู่ที่  1  ถนน บ้านแหน - น้ำแป่ง   ตำบลผาทอง   
อำเภอท่าวังผา   จังหวัดน่าน รหัสไปรษณีย์ 55140  โทรศัพท์  081 9527684       E mail:phathongnfe@gmail.com
 3. อาณาเขตติดต่อ
                              กศน.ตำบลผาทองเป็นศูนย์การเรียนชุมชน ที่   รับผิดชอบ    ให้บริการและจัดการเรียนการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ชุมชนทั้งหมด   8 หมู่บ้าน คือ
1. บ้านแหน 1    หมู่ที่ 1       2. บ้านวังผาง       หมู่ที่  2        
3. บ้านปางสา    หมู่ที่ 3       4. บ้านน้ำลัก        หมู่ที่  4                       
5.บ้านน้ำกิ         หมู่ที่ 5      6. บ้านสันเจริญ    หมู่ที่  6
7. บ้านน้ำแป่ง   หมู่ที่ 7       8. บ้านแหน 3       หมู่ที่  8
 ทิศเหนือ ติดกับตำบลนาไร่หลวงอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน
 ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
 ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลผาตอ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
 ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอปง จังหวัดพะเยา